บทความเกี่ยวกับลิงลพบุรี

 

                                        ลิงลพบุรี

                                                                                                               นายจารุพงศ์  พลเดช

ประธานมูลนิธิเพื่อลิงลพบุรี

 

 

ลิงเป็นสัญลักษณ์ของลพบุรี

                        เมื่อใดที่มีคนเอ่ยถึงลพบุรี  สิ่งแรกที่แวบขึ้นมาในสมองของคนก็คือ  ลิง  ลิงเป็นสิ่งที่เรียกร้องว่านั่นหมายถึงลพบุรี

                        แน่นอน  ไม่มีใครทราบแน่นอนว่า ลิงมาอยู่ลพบุรีได้อย่างไร  หากจะเล่าเป็นนิยายหรือนิทานก็มักจะบอกเล่ากันว่า  เมืองลพบุรีนั้น  พระรามทรงแผลงศรพรหมมาสตร์มาตกบริเวณนี้  โดยมีวัตถุประสงค์จะตอบแทนหนุมาน  ทหารเอกของพระองค์  ให้เป็นผู้ครองเมืองนั้น  แต่ปรากฏว่า   เมื่อทรงแผลงศรพรหมมาสตร์มาแล้ว  มาตกในบริเวณเมืองลพบุรีกลับเกิดไฟไหม้ขึ้นทั่วทั้งบริเวณ  จนพระรามต้องมาแผลงศรอีกเพื่อดับเพลิงดังกล่าว  ทำให้ดินบริเวณนี้สุกขาวไปหมด  ซึ่งเรียกว่า  ดินสอพอง  ในยุคปัจจุบันเมื่อได้รับมอบหมายให้ปกครองเมืองแล้ว  หนุมานก็เอาหางกวาดบริเวณดังกล่าวเป็นเมือง  ดินบางส่วน       ก็กลายเป็นเขาสมอคอน  เป็นเขาสามยอด  และเป็นที่ราบลุ่มปนภูเขาเป็นลอนๆ ไป  สำหรับลิงลูกน้อง       หนุมานนั้น  จากสืบประวัติไม่พบว่ามาอยู่บริเวณนี้ตั้งแต่เมื่อใด  แต่มีความเชื่อว่า  ลิงเหล่านี้เป็นลูกศิษย์ของศาลเจ้าพ่อพระกาฬมาตั้งแต่ต้น  จากการบอกเล่าของคนลพบุรี  ก็บอกว่า  ลิงนั้นพบก่อนที่ล้นเกล้ารัชกาล   ที่ 4  จะทรงเสด็จมาปรับปรุงเมืองลพบุรีแล้ว

 

อนุสนธิ

                        ลิงที่อาศัยอยู่ในเมืองลพบุรีมานาน  และในปัจจุบันก็มีจำนวนมากขึ้น  แต่ยังไม่มีใครทราบจำนวนที่แน่นอนว่ามีจำนวนเท่าใด  เมื่อมีปริมาณมากขึ้น  ก็ย่อมเกิดปัญหาต่างๆ ตามมา  เพราะเมืองลพบุรีได้เปลี่ยนแปลงไป  เป็นเมืองที่เจริญขึ้น  มีประชาชนมาอาศัยอยู่เป็นล้านๆ คน  เมื่อคนมีมากลิงก็มีมาก  ก็ทำให้เกิดการรุกล้ำกันเกิดขึ้น  ลิงก็เข้าไปในร้าน  รื้อค้นหาอาหาร  ทำลายทรัพย์สินของประชาชนที่อาศัยบริเวณตึกแถวหน้าศาลพระกาฬและในตลาด  สร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชนเป็นจำนวนมาก

                        ในปี 2548  ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี  (นายวิชัย  ศรีขวัญ)  ได้มอบหมายให้ท่าน      รองผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี  (นายวิบูลย์  สงวนพงศ์)  เป็นประธานคณะทำงานแก้ไขปัญหาลิงลพบุรี ขึ้น         มีคณะทำงานจำนวน 37 ท่านด้วยกัน  โดยได้มีมาตรการแก้ไขปัญหาเป็น 2 ระยะด้วยกัน  ดังนี้

 

 

 

 

มาตรการระยะสั้น

                        1. กรณีประชาชนและนักท่องเที่ยวถูกแย่งชิงสิ่งของและถูกทำร้าย  ขั้นต้นได้จัดเจ้าหน้าที่สารวัตรลิง  คอยดูแลด้านความปลอดภัย  และคอยให้อาหารแก่ลิงในบริเวณศาลพระกาฬ  มูลนิธิกิจการ  ศาลพระกาฬได้ดำเนินการจัดเจ้าหน้าที่สารวัตรลิงแล้ว  ตั้งแต่เดือน มิถุนายน 2548

                        2. เพื่อเป็นการสร้างนิสัยให้แก่ลิง  ในการกินอาหาร  โดยกำหนดเวลาในการให้อาหารวันละ 2 ครั้ง  ช่วงเช้า  เวลา 10.00 น.  และช่วงบ่ายเวลา 14.00 น.  ของทุกวัน  และให้สารวัตรลิงเป็นผู้ให้อาหารลิงแต่เพียงผู้เดียว  หากมีผู้นำอาหารมาให้แต่ไม่ตรงเวลาให้นำไปเก็บไว้  ในที่ที่จัดไว้เพื่อรอเจ้าหน้าที่นำไปให้ตามกำหนดเวลา

                        3. เนื่องจากปัจจุบันลิงบริเวณศาลพระกาฬได้เพิ่มจำนวนมากขึ้น  และมีพฤติกรรมในการแบ่งพวกหมู่เป็นลิงในศาลพระกาฬและลิงตามตึก  ซึ่งไม่สามารถมากินอาหารร่วมกันได้  คณะทำงานได้พิจารณาหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาเรื่องการให้อาหาร  โดยกำหนดให้มีสถานที่ให้อาหารบริเวณนอก  ศาลพระกาฬเพิ่มเติมอีกจำนวน 3 แห่ง  เพื่อให้ลิงนอกศาลพระกาฬมีอาหารกินไม่ให้อดอยาก  โดยจัดเจ้าหน้าที่ในการให้อาหารเป็นเวลาตามที่กำหนด  และทำการเก็บกวาดทำความสะอาดเมื่อลิงกินเสร็จ จุดที่ 1  บริเวณหลังป้อมยามข้างสวนสาธารณะริมทางรถไฟ  จุดที่ 2  บริเวณหลังพระปรางค์สามยอด หลังร้าน   นายอินทร์  จุดที่ 3  บริเวณป้อมยาม สห.มทบ.13 ข้างสถานีดับเพลิงลพบุรี  ปัจจุบันมูลนิธิกิจการ          ศาลพระกาฬได้ดำเนินการสร้างที่ให้อาหารเสร็จเรียบร้อยแล้ว  1 แห่ง  (จุดที่ 1)  ซึ่งได้ทำพิธีเปิดเป็นทางการเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2548  ในวงเงิน 120,000 บาท ซึ่งส่วนที่เหลืออีก 2 แห่ง  อยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมของสถานที่และรอรับการสนับสนุนบริจาคจากภาคเอกชนและผู้มีจิตศรัทธา  ซึ่งสามารถบริจาคเงินได้ที่สำนักงานจังหวัดลพบุรี  ศาลากลางจังหวัดลพบุรี  หรือติดต่อขอทราบรายละเอียดได้ทางโทรศัพท์หมายเลขท 0-3641-1500  หรือสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทางโทรศัพท์ 0-3641-1060  ต่อ 14 

 

มาตรการระยะยาว

1.  คณะทำงานแก้ไขปัญหาเรื่องลิงลพบุรี  ได้พิจารณาเห็นชอบในคราวประชุมครั้งที่ 2/2548  เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2548  เห็นควรให้มีการจัดทำข้อมูลเกี่ยวกับจำนวนประชากรลิง  สายพันธุ์  แหล่งที่อยู่อาศัย  และการดำรงชีพ  เพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานในการบริหารจัดการลิงศาลพระกาฬทั้งหมด  จึงได้เสนอให้มีการจัดตั้งคณะทำงานสำรวจข้อมูลพื้นฐาน  ประกอบด้วยผู้ชำนาญการ  นำโดยนายสัตว์แพทย์โรงพยาบาลสัตว์ลพบุรี  หัวหน้าเขตรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าซับลังกา  เขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาสมโภชน์  หัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์  องค์กรเอกชน  ประชาชน  และจ่าจังหวัดลพบุรีเป็นเลขานุการคณะทำงานฯ  ตามประกาศจังหวัดลพบุรี  ฉบับลงวันที่  9 ธันวาคม 2548  ปัจจุบันอยู่ระหว่างการเตรียมการด้านบุคลากรและอุปกรณ์ในการจัดเก็บข้อมูล

2.  ดำเนินการบริหารจัดการเกี่ยวกับลิงศาลพระกาฬ  จากข้อมูลการสำรวจ  คาดว่าปริมาณลิงที่จะสามารถอาศัยอยู่ในบริเวณศาลพระกาฬ  และตามตึกแถวในตัวเมืองมีปริมาณมากเกินความเหมาะสมของพื้นที่อยู่อาศัย  จึงดำเนินการศึกษาถึงความเป็นไปได้ในการจัดสร้างศูนย์บริบาลลิง  เพื่อรองรับจำนวนลิงที่เกินกว่าความเหมาะสมของสถานที่ไปอยู่แห่งใหม่  จากการสำรวจของคณะทำงานฯ ในท้องที่จังหวัดลพบุรีพบว่ามีพื้นที่ที่เหมาะสมในการจัดสร้างศูนย์บริบาลลิง  คือ  ค่ายลูกเสือหน้าอ่างเก็บน้ำซับเหล็ก  สามารถที่จะพัฒนาให้เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของลิงบางส่วน  โดยจัดทำเป็นกรงขนาดใหญ่สร้างภูมิทัศน์เลียนแบบธรรมชาติ  ซึ่งจะสามารถพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวต่อเนื่องได้อีกทางหนึ่ง  ขณะนี้อยู่ระหว่างการประสานงานกับหน่วยงานเจ้าของพื้นที่  สพท.เขต 1

 

วันเวลาผ่านไป

                        จากการแก้ไขปัญหาดังกล่าว  ก็ได้เป็นไปตามมาตรการต่าง ๆ ที่ได้กำหนดไว้  เมื่อนายวิชัย  ศรีขวัญ  ผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี  ได้ย้ายไปดำรงตำแหน่งที่จังหวัดอื่น  ก็ได้มีนายสุวัฒน์  ตันติพัฒน์       มาดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี  ท่านก็ได้มีการดำเนินการแก้ไขปัญหาลิง  ดังนี้

                        ผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี  (นายสุวัฒน์  ตันติพัฒน์)  ได้บัญชาให้สำนักศิลปากรที่ 4 ลพบุรี  ปรับปรุงบริเวณศาลพระกาฬ  เนื่องจากพิจารณาเห็นว่า  มีกลิ่นของอาหาร  อุจจาระและปัสสาวะของลิงที่ยังติดบนลานโดยรอบศาลพระกาฬ  สำนักศิลปากรที่ 4 ลพบุรี  ได้สนองตอบจังหวัดทันทีโดย  จัดทำโครงการพร้อมประมาณราคา  ตามแบบรูปรายการเดิมที่ได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมศิลปากรแล้ว  ใช้งบประมาณ  600,000 บาท  ต่อมาอดีตผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี  ได้มอบเงินจำนวนหกแสนกว่าบาท  ให้แก่มูลนิธิกิจการศาลพระกาฬ  โดยแจ้งวัตถุประสงค์ว่าให้ปรับปรุงลานโดยรอบศาลพระกาฬ  อันประกอบด้วยการเปลี่ยนวัสดุ  บริเวณ  บ่อน้ำ  และที่ให้อาหารลิง  ซึ่งทางมูลนิธิกิจการศาลพระกาฬได้จัดซื้อวัสดุอุปกรณ์  และจัดหาผู้รับจ้างมาเอง  โดยสำนักศิลปากรที่ 4 ลพบุรี  ได้ส่งช่างโยธาไปควบคุมการดำเนินการให้เป็นไปตามรูปแบบรายการตามที่กรมศิลปากรกำหนด

                        ต่อมาได้มี  นายจารุพงศ์  พลเดช  ผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี  ได้เข้ามารับตำแหน่ง  ในวันที่  1 ตุลาคม 2550  ก็ได้มีการระดมความคิดเห็นในการดำเนินการแก้ไขปัญหาลิง  ผลปรากฏว่า

 

                        1.  ปัญหาการรบกวนของลิง

                                    1.1  กัด  ทำร้าย  แย่งของ

                                    1.2  ลิงบุกรุกเข้าบ้าน  รื้อค้นสิ่งของ

                                    1.3  ค้าขายลำบาก  ไม่สามารถตั้งของได้

                                    1.4  กัดขอบยางรถ  เบาะ  โยนของลงจากตึกใส่รถ

                                    1.5  ทำลายสายไฟฟ้า  (ไฟฟ้าดับบ่อย)  ทำลายโทรศัพท์  ระบบต่อพ่วงต่าง ๆ

                                    1.6  ทำความสกปรกให้บ้านเมือง

                                    1.7  กัดทำลายประตู  หน้าต่าง  หลังคา

                                    1.8  คนให้อาหารไม่เป็นเวลา

                                    1.9  ลักขโมยเสื้อผ้าที่ตากไว้

                                    1.10 ทำลายป้ายโฆษณา  ป้ายไฟ  ป้ายหน้าร้าน  เสาอากาศ  จานดาวเทียม

 

                        2.  แนวทางแก้ปัญหาการรบกวนของลิง

                                    2.1  ให้จังหวัด  เทศบาล  และศาลพระกาฬรับผิดชอบ  (เป็นหน่วยงานหลัก)

                                    2.2  ควบคุมจำนวนลิง  โดยใช้ยาคุมกำเนิดแบบฝังแคปซูล  (มีผล 3 ปี / ครั้ง)

                                    2.3  จัดพนักงานเทศบาลเก็บทำความสะอาดสิ่งที่ลิงทำสกปรกเลอะเทอะ

                                    2.4  ให้อาหารลิงอย่างเพียงพอ (เป็นจุด)  และไม่ให้อาหารซ้ำซาก  จำเจ

                                    2.5  ให้ 11 อำเภอนำลิงในเมืองไปเลี้ยง

                                    2.6  ทำสวนลิงเหมือนสวนนกชัยนาท

                                    2.7  สำรวจประชากรลิงเพื่อเป็นข้อมูลในการบริหารจัดการ

                                    2.8  จัดพื้นที่ในศาลพระกาฬให้เพียงพอ

                                    2.9  ไม่แก้บนด้วยการจุดประทัด  ทำให้ลิงตกใจ  และไม่อยู่ในศาลพระกาฬ

 

                        จากการระดมความคิดเห็นดังกล่าวที่ประชุมได้สรุปแนวทางแก้ไขไว้  ดังนี้

                        1.  ควบคุมประชากรลิง  โดยให้มีทีมงานศึกษาตามหลักวิชาการ

                        2.  ตั้งคณะกรรมการประสานกับเจ้าของโรงภาพยนตร์มาลัยรามา  เพื่อหาแนวทางในการจัดทำ  Monkey Musium

                        3.  หาจุดให้อาหารลิงที่เป็นส่วนกลาง

                        4.  ประสานธนารักษ์จังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  เกี่ยวกับกรณีบ้านร้าง  ซึ่งเป็นแหล่งที่อยู่ของลิง

                        จากการฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ที่เสนอปัญหาและความต้องการรับแก้ไขแล้ว  ก็มีจำนวนมากที่เดียว  แต่ก็ยังไม่เห็นสิ่งสำคัญที่สุดในการแก้ไขปัญหาก็คือ  การให้ความร่วมมือกัน  แต่ละคนก็เสนอความคิดเห็นให้คนนั้น  คนนี้รับผิดชอบ  ตัวเองไม่รับผิดชอบใด  หากทำไม่ถูกใจตนเองก็ว่ากล่าวคนอื่นที่เขาทำงานเสีย ๆ หาย ๆ สรุปแล้ว  มีแต่คนพูด  ไม่มีคนทำแต่อย่างใด  ขาดการมีส่วนร่วมอันเป็นหลักสำคัญของการพัฒนา  ประกอบกับไม่มีงบประมาณรองรับ  จึงทำให้ปัญหาเพิ่มขึ้นทบเท่าทวีคูณ  ต่อมาเมื่อวันที่  28 ธันวาคม 2550  พันโทวิรัตน์  ภู่เพียงใจ  อดีตผู้อำนวยการสวนสัตว์ลพบุรีได้เสนอแนวคิดในการแก้ไขปัญหาลิง  โดยแบ่งออกเป็น 2 ส่วนด้วยกัน  ส่วนแรกเน้นการแบ่งงานที่ชัดเจน  มีคณะกรรมการ          มีสำนักงานดำเนินการ  มีหน่วยจัดระบบลิง  มีโรงพยาบาลลิง  มีพื้นที่อนุรักษ์ลิง  พร้อมทั้งกำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบ  ส่วนที่สองกำหนดแผนงานโครงการช่วยเหลือลิง  โดยมีข้อเสนอแนะว่า ต้องสำรวจความคิดเห็นของประชาชนก่อน  ตั้งคณะกรรมการมาทำงาน  กำหนดเรื่องลิงเป็นวาระของจังหวัดลพบุรี  และสุดท้ายเสนอว่า  จะทำสำเร็จได้ต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย  สำหรับ  คุณจันทนี  ไทยเจริญ  ก็เสนอว่า  ควรตั้งผ้าป่าจัดสร้างมิวเซียมให้กับลิง

 

ผ้าป่าสามัคคี

                        จากแนวความคิดทั้งหลาย  ทุกฝ่ายก็รับฟังด้วยดี  แต่ก็มีปัญหาอย่างที่กล่าวมาแล้ว  ก็คือ  ขาดการมีส่วนร่วม และขาดกระบวนการเรียนรู้แต่ละกลุ่ม แต่ละฝ่ายก็เอาปัญหาของตนเป็นที่ตั้ง  ประกอบกับ ขาดงบประมาณในการดำเนินการ   คิดแผน  คิดโครงการที่ดีอย่างไรก็ตาม   การไม่มีงบประมาณก็ยากที่จะประสบความสำเร็จ  จึงได้เกิดความคิดในการจัดทำผ้าป่าสามัคคีขึ้น  โดยกำหนดบอกบุญไปยังทุกคนในจังหวัดลพบุรี  และกำหนดทอดผ้าป่าในวันพุธที่ 30 มกราคม 2551  โดยมีท่านเจ้าคณะจังหวัด  เป็นประธานสงฆ์รับกองผ้าป่าแล้วมอบคืนแก่คณะกรรมการไปดำเนินการช่วยเหลือลิง  จากการทำผ้าป่าดังกล่าวได้ปัจจัยมาเป็นเงินจำนวน  767,274.02  บาท

                        เมื่อมีเงินก็มีกำลังใจกำลังความคิดในการแก้ไขปัญหาลิงต่อมาก็ได้มีการประชุมกัน         อีกหลายครั้งด้วยกัน  การประชุมกันทุกครั้งก็มีคนเสนอจะขอนำเงินนี้ไปใช้จ่ายในสำนักงานของตนเอง     เป็นค่าวัสดุ  ครุภัณฑ์  ค่าจ้างคนมาทำงานในหน่วยงานของตนเองเป็นส่วนใหญ่  จึงได้มีการตั้งคณะกรรมการมาดูแลเงินดังกล่าว  ประกอบด้วย  นายเฉลิมชัย  ลิ้มสกุล  ผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัด  นายธวัชชัย  เศรษฐจินดา  หอการค้าจังหวัด  พ.ท.วิรัตน์  ภูเพียงใจ  ศ.พ.ญ.จุฑามาศ  สุพะนาม  สัตวแพทย์  นางขวัญเรือน  แก้วพิจิตร  นายธีระศักดิ์  บุญชูดวง  และอาจารย์กอแก้ว  เพชรบุตร  โรงเรียนกำจรวิทย์  และได้มีการกำหนดผู้รับผิดชอบในการแก้ไขปัญหาลิงจำนวน  7  ด้าน  ด้วยกัน  คือ  ด้านสุขภาพและประชากรลิง  ศ.พ.ญ.  จุฑามาศ  สุพะนาม  และปศุสัตว์จังหวัด  รับผิดชอบด้านอาหาร  นายมนัส          วิมุกติพนธ์  มูลนิธิช่วยชีวิตสัตว์ป่าแห่งประเทศไทย  สาขาลพบุรี  รับผิดชอบ  ด้านที่อยู่อาศัยให้นายธีระศักดิ์  บุญชูดวง  ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดลพบุรี  รับผิดชอบด้านความปลอดภัยให้ศิลปากรที่  4  เทศบาลเมืองลพบุรี  การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจังหวัดลพบุรี  รับผิดชอบ  ด้านรบกวนประชาชนให้สวนสัตว์รับผิดชอบ  ด้านการท่องเที่ยว  ให้  พ.ท.วิรัตน์  ภู่เพียงใจ  รับผิดชอบ

                        การดำเนินการแก้ไขปัญหาลิงนั้น  ได้มีความเห็นร่วมกันว่าการตั้งคณะกรรมการนั้น          ไม่เกิดผลในทางปฏิบัติ  และเมื่อมีการประชุมก็เน้นแต่ปัญหา  ทุกคนก็อยากจะแก้ไขปัญหา  แต่ไม่มีใครมีส่วนร่วมกันในการทำงานที่แท้จริง  จึงได้ตัดสินใจลดระดับการทำงานเป็นคณะทำงานช่วยเหลือลิง  โดยเน้นกิจกรรมทุกอย่างที่มีผลต่อลิงโดยตรง  ไม่เน้นที่หน่วยงานรับผิดชอบ  และจะทำเท่าที่ทำได้  โดยมุ่งที่จะช่วยเหลือลิงเป็นสำคัญ

ผลการช่วยเหลือลิง 

                        จากการประชุมกันครั้งที่  3  เมื่อ  19  มีนาคม  2551  เวลา  14.00 น.  ณ   ห้องประชุม      ชั้น  4  ศาลากลางจังหวัดลพบุรี  ได้มีการปรึกษาหารือและตกลงกันจะช่วยเหลือเป็น  เรื่องแรก ก็คือ      การให้น้ำแก่ลิงในฤดูร้อนนี้  โดยขอรับการสนับสนุนถังขนาด  200  ลิตร  จากทางหลวงชนบท  มาตัดเป็น     2  ท่อน  จำนวน  10 ถัง  พร้อมขาตั้ง  การไฟฟ้าสนับสนุนถังอีก  9  ถัง  ไปติดตั้งโดยมอบให้คุณมนัส  เป็นผู้กำหนดสถานที่  เพื่อนำน้ำผสมอีเอ็มไปใส่ไว้ให้ลิงได้รับประทาน  และอาบเล่นในช่วงฤดูร้อน  เพื่อทำให้ลิงลดการเป็นโรคเรื้อน  โรคผิวหนัง  กลากเกลื้อน  มีขนสวยงาม  และมีผลตามมาก็คือ  เมื่อลิงได้ดื่มน้ำผสมอีเอ็มแล้ว  ลิงจะมีสุขภาพแข็งแรงถ่ายมูลและปัสสาวะออกมาก็ไม่มีกลิ่นเหม็นเหมือนแต่ก่อน  ทำให้ลดมลภาวะทางกลิ่นลงได้มากอย่างยิ่งในชุมชน  พร้อมทั้งเกิดความคิดในการหารายได้เข้ากองทุนเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของลิงลพบุรีอีกด้วย

                        เรื่องที่สองที่เป็นผลงานของคณะทำงาน  ก็คือ  การตรวจสุขภาพของลิง  เพื่อหาเชื้อราและแบคทีเรีย  ที่อาจนำโรคมาสู่คนได้  เน้นการสำรวจประชากรลิงที่มีอยู่ว่ามีจำนวนเท่าใดแน่  โดยขอใช้งบประมาณ  45,000  บาทในการดำเนินการ  ผลการสำรวจมีลิง 1,105 ตัว  แยกเป็นภายในศาลพระกาฬ  90 ตัว  ตลาดมโนราห์ 458 ตัว  ตึกตรงข้ามศาลพระกาฬ 144 ตัว  โรงหนังมาลัยรามา 121 ตัว  และ        พระปรางค์สามยอด 292 ตัว

เรื่องที่สาม  ก็คือ มีความคิดที่จะปรับปรุงมาลัยรามาให้เป็นที่อยู่อาศัยของลิง  โดยนำมาดำเนินการทางด้านธุรกิจด้วยซึ่งได้มอบหมายให้คุณธวัชชัย  ศ.พ.ญ.จุฑามาศ  และทรัพยากรธรรมชาติฯ   ไปร่วมกันจัดทำโครงการ  Lopburi  Monkey  Home  ขึ้น  ซึ่งในปัจจุบันกำลังอยู่ในระหว่างหาผู้ร่วมลงทุนอยู่

 

ปัญหาลิงลพบุรี

                        การแก้ไขปัญหาของลิงนั้น  มีความพยายามแก้ไขปัญหาไปในทุกด้านไปพร้อม  ๆ  กัน      แต่ปัญหาก็เกิดขึ้นมาเรื่อย  ๆ  พท.  วิรัตน์  ภูเพียงใจ  ได้เสนอปัญหาไว้อย่างน่าฟัง  ดังนี้

                        ลิงเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่ฉลาดรองจากมนุษย์  ลิงสามารถปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมเอาตัวรอดจากการอดอยากได้อย่างดี  มีวิวัฒนาการให้เข้ากับสถานภาพความเปลี่ยนแปลงของโลกและสามารถหาอาหารกินได้หลายรูปแบบ  เป็นสัตว์สังคมที่อาศัยอยู่รวมกันเป็นฝูงช่วยเหลือและรวมพลังต่อสู้ศัตรูที่มารุกรานได้ดีมีพรรคมีพวก  มีหัวหน้าและมีญาติที่รักและเคารพกันตามลำดับชั้นแบ่งกันเป็นกลุ่มใหญ่อยู่ประมาณ  54  กลุ่ม  ส่วนมากเป็นลิงแสม  ลิงวอก  ลิงกัง  และลิงเสน   ลิงกลุ่มใหญ่ ๆ   ที่สร้างปัญหาให้ชุมชนต้องปวดหัวมาก  ๆ  ได้แก่  กลุ่มลิงเขาหน่อ นครสวรรค์ , เขาวัง  เพชรบุรี , เขากระจก ประจวบคีรีขันธ์  และเขางู  ราชบุรี   เป็นต้น  ส่วนในลพบุรีมีลิงกลุ่มใหญ่ที่เป็นปัญหาได้แก่  กลุ่มลิงที่เขาตะโก ( อยู่ติดกับ     เขาสมอคอน )  กลุ่มลิงเขาสมโภชน์และกลุ่มลิงศาลพระกาฬที่เรากำลังจะพูดถึงแล้วหาวิธีการแก้ไขอยู่ในขณะนี้

                        ลิงศาลพระกาฬในที่นี้ให้หมายความถึงลิงทุกกลุ่มที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงกับศาลพระกาฬเพราะมันเป็นลิงที่แยกตัวออกมาตั้งกลุ่มใหม่กันเองในบริเวณรัศมี  500  เมตร  และมันกำลังจะขยายอาณาเขตออกไปเรื่อย ๆ  ทุกปี  โดยใช้หลังคาตึกเป็นที่อยู่อาศัย  ประมาณการว่าลิงศาลพระกาฬมีมากกว่า 2,000 ตัว  ถ้าดีดลูกคิดตามหลักคณิตศาสตร์  ว่ามีตัวเมีย 1,000 ตัว  ออกลูก 2 ปี / 1 ตัว เท่ากับ 500 ตัวต่อปี  ตายบ้างรอดบ้าง  ก็จะมีประชากรลิงเพิ่มขึ้นปีละ 300  ตัว  ถ้าอาศัยอยู่บนหลังคาตึกหลังละ 10 ตัว  จะต้องขยายไปยังตึกที่ยังไม่มีลิงปีละ  30  หลัง หรืออย่างน้อยปีละ  20  หลัง  อีกไม่นานเกินรอแถววัดมณีชลขันธ์                   วัดคลองสายบัว และสระแก้ว จะเต็มไปด้วยลิงศาลพระกาฬบ้านใครที่ยังไม่มีลิงตอนนี้อย่าพึ่งดีใจ        โอกาสต่อไปคงจะได้รับส่วนเฉลี่ยกันทุกคน  สำหรับคนที่ยังไม่มีบ้านมีตึกอยู่จะซื้อบ้านใหม่  รับรองจะมีโปรโมชั่นให้เลือก  ซื้อตึกหนึ่งหลังแถมลิง  10  ตัว  จะส่งของแถมให้เมื่อท่านผ่อนชำระค่างวดเรียบร้อยแล้ว  หรือถ้าอยากได้เร็วให้ซื้อตึกเก่ามีให้เลือกแบบมีของแถม  10  ตัว  ถึง  50  ตัว   ถ้าเป็นจริงน่ากลัวจังหรือใครยังคิดว่าจะพยายามอยู่กับลิงอย่างไร  ให้มีความสุข  ได้ช่วยบอกวิธีด้วย  คำถามมีอยู่ว่า ถ้ามีลิงมาก ๆ       มันน่ากลัวขนาดไหน ?

                        ปัจจุบันลิงศาลพระกาฬส่วนใหญ่อาศัยอยู่ตามชายคาตึก กินอยู่หลับนอนกันอย่างมี      อาณาเขตลิงจำนวน  2,000  กว่าตัวนี้   ต้องกินอาหารทุกวัน  ถ้าซื้อให้มันกินทุกตัวจะเสียค่าใช้จ่ายตัวละ      5 บาท  (ลิงในโรงพยาบาลลิงกินวันละ 12 บาท/ตัว ) เท่ากับวันละประมาณ 10,000 บาท  ถ้าเราซื้อให้มันกินได้แค่วันละ 1,000 บาท  ที่เหลือมันก็จะไปแย่งหรือขโมยเขากินอีก 9,000 บาท เพราะมันคงไม่หยุดกินหรือถือศีลอดแม้แต่วันเดียว  และในขณะที่มันต้องแย่งหรือขโมยคนกิน  ความเสียหายจะมากกว่า  9,000  บาทเป็นเท่าตัว   สรุปง่าย ๆ  ถ้าให้มันกินซะดี ๆ  จะจ่ายวันละ  10,000  บาท  แต่ถ้าให้มันกินไม่ครบจะเสียมากกว่าอย่างแน่นอน   เพียงแต่ใครจะซวยถูกลิงแย่งชิงของไปกินเท่านั้นเอง  และการแย่งชิงของกินหรือทรัพย์สิน  จะต้องมีการใช้กำลังบางทีคนก็ถูกกัดหรือไม่ลิงก็ถูกตี  นี่คือสงครามย่อย ๆ   เพื่อการอยู่รอดใคร ไม่เคยอยู่ในพื้นที่ยุทธบริเวณแบบนี้ก็คงยังไม่เดือดร้อนมากนักจนกว่าพื้นที่การรบจะเข้ามาใกล้บ้านตัวเองเสียก่อนจึงจะรู้สึก  ถ้าหากอยู่กันเฉย ๆ อย่างนี้ไม่มีการแก้ไขหรือคิดจะแก้ไขเหมือนกันแต่ช้ามาก ๆ       ความเสียหายก็จะมากด้วย   อย่ามัวใจเย็นอยู่สงสารชาวบ้านตาดำ  ๆ   ที่ต้องทนอยู่กับลิงอย่างไม่มีความสุข   ไม่ต้องพูดถึงแล้วเรื่องลิงจะมาส่งเสริมการท่องเที่ยวเพราะคนพูดไม่ได้อยู่ในที่เกิดเหตุ  ปัจจุบันชาวต่างชาติเขามาดูความแปลกที่ว่าทำไมคนกับลิงอยู่กันได้อย่างไร   นักวิชาการบางคนก็ยังเชื่อว่าอยู่กันได้กลมกลืนดีมาช้านานแล้ว  แต่ความเป็นจริงไม่ใช่แล้ว  ถ้าไปดูลิงป่วยในโรงพยาบาลลิง  จะพบสถิติ             ที่น่าสนใจว่า  มีลิงป่วยบางตัวถูกตีสมองไหล  ถูกน้ำร้อนลวก  ถูกยิง  เพราะไปแย่งชิงของและทำร้ายคน    บางตัวถูกวางยาสลบส่งมา รพ.ลิง  รักษาไม่ทันตายไปก็มี นี้คือข้อเท็จจริง  คนรักลิงเห็นแล้วก็ต้องทำใจแล้วใครล่ะจะช่วยได้นั่นคือ  คำถามต่อไปที่จะต้องหาคำตอบ

 

                        ก่อนที่จะถามหาผู้ที่จะมารับผิดชอบหรือช่วยแก้ปัญหาเรื่องลิงศาลพระกาฬกลุ่มนี้ ก็จะต้องทราบเสียก่อนว่าจะให้มาทำอะไรบ้าง   มีปัญหาอะไรที่จะต้องแก้ไข  ทั้งในระยะสั้น  ระยะยาว  รวมทั้งปัญหาเฉพาะหน้าในปัจจุบัน

                        ข้อแรก    ต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้าก่อนคือ  ลิงทำร้ายคน  ขโมยสิ่งของ

                        สาเหตุ   เพราะลิงต้องการกินอาหารแล้วพื้นที่บริเวณที่มันอาศัยอยู่ไม่มีอาหารตามธรรมชาติเลยแล้วจะให้พวกมันไปกินที่ไหนนอกจากต้องแย่งชิงจากประชาชน   ฉะนั้นพวกเราต้องหาอาหารให้พอและจัดระบบให้ดี  มีคนคอยดูแลว่าจุดไหนบ้างลิงยังไม่ได้กิน  เพราะถ้าวันไหนมันยังไม่ได้กินมันก็จะพยายามหาทางกินจนได้  ไม่ว่ามันจะถูกตี  ถูกเตะ  มันก็ย่อมเสี่ยงตายเพราะถูกกดดันจากความหิว แต่ถ้ามันได้กินอิ่มแล้วมันก็จะไม่ดุ  จะมีลิงบางตัวซุกซนแย่งของไปเล่นบ้าง  แต่ก็จะเป็นส่วนน้อยไล่หรือขู่มันหน่อยมันก็จะหนีไม่สู้ มี รปภ. ก็ยังไม่ทั่วถึง  ฉะนั้นเราก็จะต้องมาเลือกเองว่า  จะหาให้มันกินดี ๆ  แล้วจะได้น้ำใจจากพวกมันด้วยหรือจะให้มันแย่งชาวบ้านกิน  คิดดูให้ดีของที่หามาให้มันกินนั้นราคาจะถูกกว่าของที่มันแย่งไปกินเอง  บางครั้งลิงแย่งชิงไปแล้วก็กินไม่ได้   เสียของเปล่า ๆ  น่าเห็นใจไม่ได้ประโยชน์ทั้งลิงและคน    ชาวบ้านที่อยู่ใกล้จุดลิงมาก ๆ  ต้องจ้าง  รปภ. เอง  หรือไม่ก็ให้คนในบ้านคอยระวังลิงไว้  ทำให้เสียเวลาทำงานไปเปล่า ๆ  นี่คือ  ปัญหาเฉพาะหน้าที่ต้องแก้ไขโดยด่วนที่สุด

                        ข้อสอง   แก้ปัญหาระยะสั้น

                        การลดประชากรลิง  จำเป็นต้องรีบทำเพราะลิงศาลพระกาฬมีการขยายพันธุ์เร็วมาก  ยังไม่เคยสำรวจตามหลักวิชาการเลยสักครั้ง  โดยคาดการว่าน่าจะมีประมาณ  2,000  ตัว  ลิงมีอายุขัย  20  ปี  สามารถมีลูกได้เมื่ออายุ  3 4 ปี  ระยะตั้งท้อง  160 170  วัน  จะคิดตามสูตรไหนก็ได้ว่ามันจะมีลูกออกมาปีละเท่าไร  รอดบ้าง  ตายบ้าง  จากสถิติของ ร.พ.ลิง   มีลิงถูกรถชนตายเป็นอันดับหนึ่ง  ไฟฟ้าช๊อตหม้อแปลงไฟฟ้าระเบิดลิงตายเป็นอันดับสอง  ถูกตีบ้าง หมากัดตายบ้าง  รวมแล้วประมาณเดือนละ 12 ตัว  ให้สมมุติว่าประชากรลิงน่าจะเพิ่มขึ้นปีละ  200  ตัว  ชาวบ้านบริเวณที่ลิงอาศัยอยู่ก็จะมีมูลค่าความเสียหายเพิ่มขึ้นอีก วันละ 1,000 บาท  เป็นอย่างน้อย  หรือใครคิดว่าไม่น่าจะถึงก็ลองทำสำรวจดู  สรุปแล้วถ้าเราไม่มีแผนชะลอหรือลดประชากรลิงแล้ว  ลิงก็จะต้องเพิ่มปริมาณขึ้นเรื่อย ๆ  แน่  ฉะนั้นการลดประชากรลิง        จึงเป็นเรื่องด่วนที่จะต้องรีบทำเช่นกัน

                        ข้อสุดท้าย  แก้ไขปัญหาระยะยาว

                        ต้องเฝ้าระวังโรคติดต่อระหว่างคนกับลิง    และหาแหล่งพักพิงให้กับลิงที่มีปัญหา  ปัจจุบันนี้มีการพบโรคติดต่อจากลิงสู่คนเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งชนิด  คือ  โรคมาลาเรียในลิงกัง   ซึ่งปกติโรคจากลิง 9 ชนิด      ที่ติดต่อสู่คนได้ยังพอรับมือไหว  แต่ถ้าหากยังมีโรคที่ไม่คาดคิดเพิ่มขึ้นอีกโดยมีลิงเป็นพาหะก็จะเป็นเรื่อง     ที่น่าตกใจ ค่าใช้จ่ายในการเฝ้าระวังก็ต้องมีบ้าง  เพราะใช้หลักวิชาการชั้นสูงและเครื่องมือที่ทันสมัย  ถ้าเราไม่มีชุดแพทย์คอยเฝ้าระวังมีแต่ ร.พ.ลิง   อย่างเดียวไม่มีเครื่องมือที่ดีก็ไม่มีประโยชน์ค่าความเสียหาย        จะสูงมาก   ถ้าเกิดโรคระบาดขึ้นจริง ๆ

                        สำหรับการหาพื้นที่ให้เป็นแหล่งพักพิงกับลิงที่มีปัญหา ก็ควรเริ่มวางแผนดำเนินการได้เลยเพราะปัจจุบันที่ ร.พ.ลิง  รับผิดชอบอยู่นั้นเกินขีดความสามารถที่จะทำได้แล้ว  ส่วนลิงที่มีปัญหาได้แก่       ลิงป่วยระยะยาว  ลิงพิการ  ลิงชรา  และลิงดู  อยู่ที่ ร.พ.ลิง  เวลานี้  20  กว่าตัวที่ต้องรับผิดชอบค่าอาหารอยู่  โดยเฉพาะลิงดุ  ร.พ.ลิง   งดรับชั่วคราวเพราะไม่มีกรง   ซึ่งความจริงลิงดุก็ไม่ใช่หน้าที่และจุดประสงค์ของ  ร.พ.ลิง   ที่จะมาแก้ปัญหาให้  ควรจัดชุด รปภ. จับลิงดุขึ้นมาโดยเฉพาะ  ไม่เช่นนั้นก็จะเกี่ยงกันไปเกี่ยงกันมา แก้ไขปัญหาให้ชาวบ้านไม่ได้   หน่วยงานที่รับผิดชอบก็ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการจับลิงพวกนี้   โดยเฉพาะค่ายาสลบครั้งละ  300 400  บาท  จับมาแล้วก็จะต้องเลี้ยงดู  กินอาหารวันละ  12 บาท / ตัว  หน่วยงานไหนก็คงไม่อยากให้ใช้ปากเปล่าโดยไม่มีงบประมาณมา  แต่ถ้าปล่อยไว้ไม่มีหน่วยงานไหนรับผิดชอบลิงดุ  ลิงเกเร  เหล่านี้  ไปกัดใครเข้าก็จะมีผลเสียมากกว่า   ปัจจุบันมีคนโทรมาแจ้งให้ไปจับลิงเหล่านี้เดือนละหลายตัว       ยิ่งเป็นลิงแตกกลุ่มจากศาลพระกาฬไป ชาวบ้านเขาก็อยากให้ไปจับเข้ากลุ่มเร็ว ๆ  เพราะกลัวว่าจะมาตั้ง     กลุ่มใหม่  นี้คือปัญหาหนึ่งที่ยังหาใครรับผิดชอบไม่ได้

                        สรุปแล้วงานที่จะต้องทำในการแก้ไขปัญหาลิงศาลพระกาฬนอกจากทั้ง 3 ข้อนั้น ยังมีอีกมากปัจจุบันเราได้เริ่มดำเนินการไปแล้วถึงขั้นไหน  แค่สร้างจุดให้อาหารลิงเพียงจุดเดียวก็ยังช้าอยู่  ก็ต้องมาทบทวนดูว่าจะทำงานอย่างอื่น ๆ  ให้เร็วกว่านี้ได้อย่างไร  ติดขัดตรงไหนความร่วมมือเป็นสิ่งสำคัญเงินงบประมาณก็เป็นสิ่งจำเป็น  สิ่งที่จะต้องดำเนินการแก้ไขปัญหาลิงนั้น  ทุกปัญหาใช้เงินแทบทั้งสิ้นไม่มีปัญหาไหนที่ไม่ใช้เงินเลย  หรือใครว่าสามารถใช้คนอื่นไปทำงานได้โดยไม่ต้องใช้เงิน  คณะทำงานแก้ไขปัญหา  เรื่องลิงลพบุรีได้รับการแต่งตั้งจากผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี   ยังไม่มีงบประมาณมาให้ต้องเรียกประชุมคอยประสานกับหน่วยงานที่พอจะช่วยได้ให้ลงมาร่วมแก้ปัญหาเรื่องการบำบัดทุกข์  บำรุงสุข       เป็นหน้าที่โดยตรงของผู้มีอำนาจสูงสุดในจังหวัดนั้น   หากปัญหานั้นได้ถูกร้องเรียนมาเนิ่นนานแล้วยังไม่ได้รับการแก้ไข  ก็ต้องเร่งดำเนินการจะด้วยวิธีใดก็ตาม  เพื่อความผาสุกของประชาชน  จังหวัดเพชรบุรีมีลิงที่ก่อความเดือดร้อนเช่นกัน  กำลังจะแก้ปัญหาเร่งด่วนโดยตั้งคณะทำงานมีงบประมาณให้มาคุมกำเนิดลิงจำนวน 1,571,000 บาท โดยแบ่งเป็นค่าตอบแทน 60,000 บาท ค่าใช้สอย 481,000 คน ค่าวัสดุ 1,030,000 บาท  การทำงานอยู่ในความควบคุมของปศุสัตว์จังหวัดเพชรบุรี  เป้าหมายคือ  คุมกำเนิดลิงตัวเมีย 1,000  บาท  โดยการฝังฮอร์โมนและชิพที่แขนลิง  ระยะการคุมกำเนิดได้  6  ปี  นี้คือข้อมูลเบื้องต้นที่ได้มาจากจังหวัดเพชรบุรี  ที่จะเริ่มต้นดำเนินการในเดือนสิงหาคม  2548  นี้  เป็นต้นไป

                        ฉะนั้นการดำเนินการใด ๆ  ก็ตามการผลักดันงบประมาณเพื่อมาดำเนินการแก้ไขปัญหา      จึงเป็นเรื่องสำคัญ  ขอให้คณะทำงานช่วยเร่งดำเนินการให้ด้วย

 

 

 

 

 

ปัญหามีไว้แก้มิได้มีไว้กลุ้ม

                        ลิงเมืองลพบุรีเป็นลิงเมืองไปแล้ว พวกพวกเขาไม่สามารถดำรงชีวิตด้วยตนเองได้             การรับประทานอาหารตลอดจนการดำรวงชีวิตก็ต้องพึ่งพาอาศัยคนที่มีจิตเมตตาหาอาหารมาให้รับประทาน ไม่ว่าจะเป็นผลไม้ ถั่วลิสง หรือยาคูลท์ ก็ตาม ปัจจุบันนี้ ทางคณะทำงานช่วยเหลือลิงกำลังดำเนินการตรวจสุขภาพและนับจำนวนประชากร โดยการหนีบหูลงตัวเลขเพื่อให้ทราบแน่ชัดในจำนวนลิงด้วยกัน มีเป้าหมายในการดำเนินการในปี 2552 นี้ จำนวน 100 ตัวก่อน คาดว่าจะมีผลสำเร็จตามเป้าหมายที่กำหนดไว้          แต่อย่างไรก็ตาม การแก้ไขปัญหาเรื่องลิงก็ย่อมมีความแปรเปลี่ยนไปตามลักษณะของเวลาและสถานที่      คนที่รักลิงทุกคน  ก็ควรมาร่วมกันแก้ไขน่ะครับ   ร่วมมือกันเท่านั้น  จะเกิดความสำเร็จในการทำงานครับ

 

 

บันทึกความทรงจำ

...