หน้าหลัก

พระพุทธโสภา

  • พิมพ์

พระพุทธโสภา

 

                       นายจารุพงศ์     พลเดช

                   ประธานมูลนิธิเพื่อลิงลพบุรี

 

พระพุทธรูปสำคัญ ๆ ที่มีมาแต่โบราณนั้น  มักจะสร้างโดยผู้มีบุญญาบารมีหรือผู้มีบุญญาบารมีเป็นผู้มอบให้อัญเชิญไปประดิษฐาน เป็นหลักชัยในการสร้างบ้านแปงเมือง เช่น ในสมัยพระนางเจ้าจามเทวี พระธิดาแห่งกษัตริย์เมืองละโว้ (ลพบุรี)ได้ขึ้นไปเสวยราชย์เป็นปฐมกษัตริย์ที่เมืองหริภุญชัย (จังหวัดลำพูน) ในราวปี พ.ศ. ๑๓๑๐ ถึง พ.ศ. ๑๓๑๑ นั้น ได้มีพระเสตังคมณี หรือ พระแก้วขาว ซึ่งเป็นพระพุทธรูปสลักจากแก้วสีขาวใส มีขนาดหน้าตักกว้าง ๔ นิ้ว สูง ๖ นิ้ว   เป็นต้น

ที่มาของพระพุทธรูป

                การสร้างพระพุทธรูปนั้น มีผู้รู้ได้กล่าวไว้ว่า พระพุทธรูป หรือ พระพุทธปฎิมา นั้น ตามภาษีบาลี หมายถึงพระรูปที่ใช้แทนองค์พระพุทธเจ้า ผู้เป็นพระศาสดาในพระพุทธศาสนา มูลเหตุที่เกิดการสร้างพระพุทธรูปขึ้นนั้น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ผู้ทรงนิพนธ์หนังสือเรื่อง ตำนานพระพุทธเจดีย์ ประทานความเห็นว่า การสร้างพระพุทธรูปนั้น ปรากฏอยุ่ในตำนานพระแก่นจันทน์ ซึ่งได้กล่าวถึงพุทธประวัติ ตอนที่พระพุทธองค์ได้เสด็จดาวดึงส์สวรรค์เป็นเวลาหนึ่งพรรษา พระเจ้าปเสนทิโกศล แห่งกรุงโกศลนคร เมื่อมิได้เห็นพระพุทธองค์มาช้านาน ก็มีความรำลึกถึง จึงทรงรับสั่งให้ช่างจัดทำพระพุทธรูปด้วยไม้แก่นจันทน์แดงขึ้นประดิษฐานไว้เหนืออาสนะที่พระพุทธองค์เคยประทับ  ครั้นเมื่อพระพุทธองค์เสด็จกลับจากดาวดึงส์มาถึงที่ประทับ พระแก่นจันทน์ก็ลุกขึ้นปฏิสันถารกับพระองค์ด้วย ปฎิหาร แต่พระพุทธองค์ได้ตรัสสั่งให้พระแก่นจันทน์กลับไปยังที่ประทับตามเดิม เพื่อรักษาไว้เป็นตัวอย่างพระพุทธรูปที่สาธุชนจะได้ใช้เป็นแบบอย่างในการสร้างพระพุทธรูป เมื่อพระองค์ทรงล่วงลับไปแล้ว จะเห็นได้ว่า การสร้างพระพุทธรูปนั้นได้มีขึ้นโดยพระบรมพุทธา นุญาติไว้ และเหมือนกับพระพุทธองค์ เพราะตัวอย่างได้สร้างขึ้นมาตั้งแต่ในสมัยพุทธกาล

พระพุทธโสภา

                พระพุทธโสภา นั้นเป็นพระพุทธรูปเก่าแก่องค์หนึ่งที่มีความงดงามมาก เป็นพระพุทธรูปโบราณศิลปะเชียงแสนสิงห์หนึ่ง ซึ่งเป็นสุดยอดพุทธศิลป์ของประเทศไทย ขนาดพระเพลากว้าง ๓๕ นิ้ว สูง ๕๓ นิ้ว นำมาจากวัดร้างแห่งหนึ่งในภาคเหนือโดยพระเจ้าแผ่นดินเชียงใหม่หรือเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ ซึ่งมีพระนามว่า เจ้าแก้วนวรัฐ ผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ที่ ๙ แห่งราชวงศ์ทิพย์จักราธิวงศ์ (เจ้าเจ็ดตน) และเจ้าหลวงเชียงใหม่องค์สุดท้าย ครองนครเชียงใหม่ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๕๒ ถึงแก่พิราลัยในปี พ.ศ. ๒๔๘๒ ในสมัยรัชกาลที่ ๕ แห่งราชจักรีวงศ์ พระพุทธรูปองค์นี้มีความงดงามเป็นอันมาก เมื่อมาเป็นประธานของวัดถ้ำตะโก ตำบลเขาสมอคอน อำเภอท่าวุ้ง จังหวัดลพบุรี ชาวบ้านจึงต่อท้ายชื่อวัดด้วยการถวายนามพระพุทธรูปว่า วัดถ้ำตะโกพุทธโสภา มีความหมายว่า วัดถ้ำตะโกพระพุทธรูปงาม ปัจจุบัน พระพุทธโสภาได้ถูกอัญเชิญลงมาจากอุโบสถหลังเก่าที่อยู่บนยอดเขามาประดิษฐานไว้ที่อุโบสถหลังใหม่บริเวณเชิงเขานั้นเอง

 

                พระพุทธโสภาที่ได้รับการถวายจากเจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าหลวงเมืองเชียงใหม่นั้น ตามเอกสารของวัดถ้ำตะโก ได้บันทึกไว้ว่า พระอาจารย์เภา พุทธสโร เจ้าอาวาสในสมัยนั้น ได้รับการอุปถัมภ์จากสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ และพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นวิวิธวรรณปรีชา ซึ่งทั้งสองพระองค์ทรงสนิทสนมกับเจ้าแก้วนวรัฐเป็นอย่างดี  พระอาจารย์เภาคงได้มีโอกาสพบกับเจ้าแก้วนวรัฐ เมื่อเจ้าแก้วนวรัฐนมัสการอาจารย์เภาแล้ว ก็เกิดศรัทธาถวายพระพุทธรูปสำคัญแก่พระอาจารย์เภา  ในปี พ.ศ. ๒๕๕๒ เจ้าประคุณสมเด็จพระญานสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลสังฆปรินายก ได้ประทานผ้าพระกฐินให้ผู้เขียนในฐานะผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรีเป็นผู้แทนคณะศรัทธาญาติธรรมไปทอด ณ วัดถ้ำตะโกพุทธโสภาในวันเสาร์ที่ ๒๔ ตุลาคม ๒๕๕๒ นับเป็นฟื้นคืนชีพอีกครั้งหนึ่งของสถานที่สำคัญในประวัติศาสตร์ชาติไทย เขาธรรมิกราช (เขาสมอคอน) นับว่าเป็นที่น่ายินดีเป็นอย่างยิ่ง ผู้เขียนใคร่ขอเชิญทุกท่าน หาโอกาสไปนมัสการพระพุทธโสภา พระพุทธรูปโบราณศิลปะเชียงแสนสิงห์หนึ่ง ซึ่งเป็นสุดยอดพุทธศิลปะแห่งประเทศไทยได้ที่วัดถ้ำตะโกพุทธโสภา ตำบลเขาสมอคอน อำเภอท่าวุ้ง จังหวัดลพบุรีได้ ท่านจะได้รับอานิสงค์ในการไปนมัสการและร่วมทำบุญฟื้นฟูสถานที่สำคัญสร้างสมบุญบารมีไว้ในอนาคตกาลโดยทั่วกัน